สารจากประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ปี 2564 ที่ผ่านมา นับเป็นอีกปีที่ท้าท้ายอย่างยิ่งเนื่องจากบริษัทยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตามจากการที่บริษัทนำแผนบริหารความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ (Business Continuity Plan) ที่ได้วางแผนตั้งแต่ปี 2562 มาปฎิบัติ อาทิเช่น มาตรการ Bubble & Seal โดยการนำระบบ SCADA: Supervisory Control and Data Acquisition มาใช้ในการควบคุมดูแลการผลิตน้ำผ่านห้องควบคุมส่วนกลาง ทำให้การปฏิบัติงานของบริษัทมีความต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงานยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แม้ว่าจะอยู่ในภาวะของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ก็ตาม
สำหรับภาพรวมของธุรกิจสาธารณูปโภคนั้น ในปี 2564 ปริมาณการขายน้ำและปริมาณการบริหารจัดการน้ำเสียและบำบัดน้ำเสียรวมทั้งหมดของบริษัทเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เป็น 135 ล้านลูกบาศก์เมตร สาเหตุหลักมาจากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มลูกค้าใหม่และกลุ่มลูกค้าเดิมทั้งในและต่างประเทศ ในส่วนของผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม ในปีที่ผ่านมาบริษัทได้เริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์โครงการน้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) ระยะที่ 2 กับ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) และลงนามสัญญาซื้อขายน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified) เพิ่มเติมกับ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จํากัด (มหาชน) นอกจากนี้บริษัทได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อให้บริการน้ำปราศจากแร่ธาตุ และผลิตภัณฑ์น้ำประเภทอื่นๆ ในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย (มาบตาพุด) ซึ่งเป็นการขยายธุรกิจสาธารณูปโภคไปยังพื้นที่อื่นๆ นอกนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มบริษัทดับบลิวเอชเอ พร้อมกันนี้บริษัทยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและขยายแหล่งน้ำดิบทางเลือก เช่น การจัดหาแหล่งน้ำดิบเพิ่มเติม โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทอยู่ระหว่างพัฒนาและจัดหาแหล่งน้ำดิบทางเลือกจำนวน 10 ล้านลูกบาศก์เมตร การขยายพื้นที่บ่อกักเก็บน้ำเพื่อรองรับน้ำจากธรรมชาติ การขยายกำลังการผลิต Reclaimed Water หรือการนำน้ำเสียมาบำบัดและใช้ใหม่ ซึ่งนอกจากเป็นการลดการพึ่งพาแหล่งน้ำดิบเดิมและลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งแล้ว ยังสามารถนำน้ำที่ได้จากกระบวนการบำบัดดังกล่าวไปสร้างมูลค่าเพิ่มโดยผลิตเป็นน้ำปราศจากแร่ธาตุและน้ำอุตสาหกรรมเกรดสูงเพื่อจำหน่ายต่อไป
ในส่วนของธุรกิจพลังงานในปี 2564 บริษัทมีการรับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติและเงินปันผลรับจากธุรกิจพลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 โดยในส่วนของธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2564 รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าและการให้บริการติดตั้งแผงโซลาร์ (EPC service) เพิ่มขึ้นกว่า 196 ล้านบาท ในขณะที่ ณ สิ้นปี 2564 บริษัทมียอดรวมสะสมของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รวมทั้งสิ้น 92 เมกะวัตต์ และได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปแล้วทั้งสิ้น 57 เมกะวัตต์ ในขณะที่ส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจพลังงานที่บริษัทร่วมลงทุนอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีก่อนแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการหยุดซ่อมบำรุงนอกแผนของโรงไฟฟ้า GHECO-One แต่ได้รับการชดเชยด้วยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP
บริษัทให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ อาทิเช่น ระบบซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบ Peer to Peer Energy Trading ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม ERC Sandbox ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทได้เริ่มทดสอบระบบซื้อขายไฟฟ้ากับลูกค้าในโครงการดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้บริษัทได้พัฒนาระบบควบคุมจากส่วนกลาง (Unified Operation Center : UOC) ซึ่งช่วยควบคุมและดำเนินธุรกิจสาธารณูปโภคและธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านศูนย์ควบคุมส่วนกลาง
สำหรับผลการดำเนินงานในปีทีผ่านมา บริษัทมีรายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติรวมทั้งสิ้น 3,017 ล้านบาท กำไรสุทธิ 736 ล้านบาท และกำไรจากการดำเนินงานปกติ 866 ล้านบาท โดยมีมูลค่าสินทรัพย์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 รวมทั้งสิ้น 25,839 ล้านบาท และมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของเจ้าของเท่ากับ 0.90 เท่า
ความสำเร็จข้างต้นจะไม่เกิดขึ้นเลย หากขาดความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น คู่ค้า พนักงานของบริษัท และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในนามของคณะผู้บริหารของบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ผมขอขอบพระคุณทุกฝ่ายที่ไว้วางใจ ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานของบริษัทตลอดมา โดยเฉพาะตลอดช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นรากฐานสำคัญของการเติบโตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และขอให้เชื่อมั่นว่าผมและพนักงานของเราจะยังคงทุ่มเททำงานพร้อมร่วมมือร่วมใจกันเพื่อขับเคลื่อนให้บริษัทเติบโตและสร้างมาตรฐานที่ดีให้กับอุตสาหกรรมไทย พร้อมมุ่งมั่นที่จะสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติ